ทิศทางองค์กร

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นองค์กรของรัฐในรูปแบบองค์การมหาชนตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 จัดตั้งขึ้นตาม พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณี และเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2546 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ในกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ความเป็นมา

เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2541 ปลัดกระทรวงพาณิชย์ (นายสมพล เกียรติไพบูลย์) ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (นายปรีชา อรรถวิภัชน์) อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี (นายนภดล มัณฑจิตร) อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (นายมนู เลียวไพโรจน์) รองอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก (นางจันทรา บูรณฤกษ์) ผู้แทนจากสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทย และเครื่องประดับ (นายคมสัน โอภาสสถาวร นายพรสิทธิ์ ศรีอรทัยกุล นายพิเชษฐ์ พะลานุกูล) และศาสตราจารย์ศักดา ศิริพันธุ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ประชุมหารือในการจัดตั้ง สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ โดยได้ข้อสรุปว่าทั้ง 2 กระทรวงเห็นชอบให้จัดตั้งสถาบันดังกล่าวโดยได้รับความร่วมมือจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในด้านสถานที่และบุคลากร และที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เป็นแกนนำในการนำเสนอโครงการจัดตั้งสถาบันต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้จัดตั้ง “สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ” เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2541 โดยให้มีสถานะเป็นองค์กรอิสระ การบริหารงาน ไม่ผูกพันกับกฎระเบียบปฏิบัติและข้อบังคับของราชการและรัฐวิสาหกิจ และเมื่อมีพระราชบัญญัติองค์การมหาชนประกาศใช้ จึงให้ดำเนินการตาม พระราชบัญญัติต่อไป

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2541 ปลัดกระทรวงพาณิชย์ (นายสมพล เกียรติไพบูลย์) ในฐานะประธานกรรมการบริหารสถาบัน อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศาสตราจารย์ ดร.เทียนฉาย กีระนันท์) อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก (นายสนิท วรปัญญา) คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศาสตราจารย์ศักดา ศิริพันธุ์) นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ (นายคมสัน โอภาสสถาวร) และอุปนายกสมาคมฯ (นายพิเชษฐ์ พะลานุกูล) ได้ลงนามในบันทึกช่วยจำของโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยตกลงที่จะร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อความเป็นเลิศ ทางวิชาการและเพื่อพัฒนาและส่งเสริมการส่งออกแก่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยคณะวิทยาศาสตร์ตกลงให้ใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งในอาคารวิจัยและตรวจสอบอัญมณี อุปกรณ์และอนุญาตให้อาจารย์ให้ ความร่วมมือในด้านการวิจัยและตรวจสอบอัญมณี เป็นเวลา 10 ปี (9 กันยายน 2541 – 9 กันยายน 2551) ต่อมา เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2541 ที่ประชุมคณะกรรมการสถาบันสถาบันซึ่งประกอบด้วยภาครัฐและเอกชน จำนวน 28 ท่าน โดยมีนายสมพล เกียรติไพบูลย์ เป็นประธาน ได้มีมติแต่งตั้งศาสตราจารย์ศักดา ศิริพันธุ์ เป็นผู้อำนวยการสถาบัน

จากนั้นเมื่อพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2542 สถาบันจึงได้ดำเนินการยกร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ตามแนวทางและขั้นตอนในการดำเนินการจัดตั้งเป็นองค์การมหาชนตามที่สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการ สำนักงาน ก.พ. กำหนด และเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2546 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการ ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ จนในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2546 จึงได้มีการประกาศ “พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและ พัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ.2546” ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 120 ตอนที่ 130ก สถาบันมีชื่อโดยย่อว่า สวอ. และมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า The Gem and Jewelry Institute of Thailand (Public Organization) (GIT) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ(องค์การมหาชน) บริหารงานและควบคุมดูแลโดย “คณะกรรมการบริหารสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ” มีจำนวน 11 คน ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ(องค์การมหาชน) พ.ศ. 2546 มาตรา 15 ประกอบด้วย ประธานกรรมการ (แต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี) กรรมการโดยตำแหน่ง 4 คน ได้แก่ ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้แทนสำนักงบประมาณ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 5 คน (แต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี) และมีผู้อำนวยการสถาบันเป็นกรรมการและเลขานุการ

ต่อมา พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ(องค์การมหาชน) (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 15 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ พ.ศ. 2546 และให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ” มีจำนวน 11 คน ประกอบด้วย ประธานกรรมการ (แต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี) กรรมการโดยตำแหน่ง 3 คน ได้แก่ ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ และผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 6 คน (แต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี) และให้ผู้อำนวยการสถาบันเป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง คณะกรรมการสถาบันมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการและการดำเนินการของสถาบัน เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ รวมถึงกำหนดนโยบายการบริหารงาน และให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานของสถาบัน อนุมัติงบประมาณประจำปี งบการเงิน แผนการลงทุน และแผนการเงินของสถาบัน รวมทั้งออกระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด หรือประกาศที่เกี่ยวกับสถาบัน

คณะกรรมการสถาบันสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 2/2548 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2548 มีมติแต่งตั้งนางวิลาวัณย์ อติชาติ เป็นผู้อำนวยการสถาบัน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2548 เป็นต้นไป

คณะกรรมการสถาบันสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 3/2556 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 มีมติแต่งตั้ง นางพรสวาท วัฒนกูล เป็นผู้อำนวยการสถาบัน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2556 เป็นต้นไป

คณะกรรมการสถาบันสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 7/2560 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2560 มีมติแต่งตั้ง นางดวงกมล เจียมบุตร เป็นผู้อำนวยการสถาบัน ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฏาคม 2560 เป็นต้นไป

คณะกรรมการสถาบันสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 12/2563 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 มีมติแต่งตั้ง นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย เป็นผู้อำนวยการสถาบัน ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นไป

วิสัยทัศน์

เป็นผู้นำด้านมาตรฐานห้องปฏิบัติการ และเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการเพื่อสร้างการเติบโตของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยอย่างยั่งยืน

พันธกิจ

เป็นสถาบันหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก มีหน้าที่ ดังนี้

  1. วิเคราะห์ ตรวจสอบ จัดระดับชั้น สร้างมาตรฐานและรับรองคุณภาพสินค้าอัญมณีเครื่องประดับ และโลหะมีค่า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นคุณภาพของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
  2. วิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับอย่างครบวงจร และสอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ
  3. พัฒนาคุณภาพบุคลากรเพื่อตอบสนองความต้องการของธุรกิจอัญมณีเครื่องประดับ
  4. จัดทำฐานข้อมูลด้านการตลาดอัญมณีเครื่องประดับเชิงลึก เพื่อเผยแพร่แก่ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ
  5. เป็นหน่วยงานกลางในการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ทั้งภายในและต่างประเทศเพื่อยกระดับธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับสู่สากล
วัตถุประสงค์
  1. เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับให้มีขีดความสามารถสูงในตลาดโลก
  2. เพื่อเป็นสถาบันหลักของชาติในการวิจัย ตรวจสอบ และรับรองคุณภาพอัญมณีและเครื่องประดับ รวมทั้งโลหะมีค่า
  3. เพื่อส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรในด้านอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเพื่อตอบสนองความต้องการของธุรกิจอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ
  4. เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเพื่อให้บริการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์ธุรกิจอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับให้สามารถยืนหยัดและแข่งขันได้ทุกสภาวการณ์ในตลาดโลก
อำนาจหน้าที่ (ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันฯ หมวด 1 มาตรา 8 และมาตรา 9)
มาตรา 8
  1. เสนอนโยบายและแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ
  2. วิจัย ตรวจสอบและออกใบรับรองคุณภาพอัญมณีเครื่องประดับและโลหะมีค่า
  3. ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ประกอบการ และผู้สนใจทั่วไป ให้เกิดความชำนาญและทักษะเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ
  4. รวบรวม วิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลและสถิติ เพื่อสร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ
  5. ติดต่อประสานงาน ทำความตกลงและความร่วมมือกับหน่วยงาน หรือองค์การต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศในกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของสถาบัน
มาตรา 9
  1. ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง หรือมีทรัพยสิทธิต่างๆ
  2. ก่อตั้งสิทธิ หรือทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน
  3. เข้าร่วมทุนกับนิติบุคคลอื่นในกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของสถาบัน
  4. กู้ยืมเงินเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์
  5. เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน หรือค่าบริการในการดำเนินกิจการ
  6. ให้ประกาศนียบัตร หนังสือรับรอง และเครื่องหมายวิทยฐานะในกิจกรรมที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของสถาบัน
  7. จัดให้มีและให้ทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบัน
  8. จัดระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้และรักษาทรัพย์สินของสถาบัน
  9. ดำเนินการอื่นใดที่จำเป็นหรือต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสถาบัน
ค่านิยมองค์กร

"PUSH" forward ประกอบด้วย

P: Professional      หมายถึง เป็นมืออาชีพ
U: Unity      หมายถึง รักและสามัคคี เป็นหนึ่งเดียวกัน
S: Standard      หมายถึง ส่งมอบผลงานมาตรฐานสากล
H: Happiness      หมายถึง ปฎิบัติงานด้วยความสุข
forward      หมายถึง มุ่งทะยานไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง

กฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ
ยุทธศาสตร์ กลยุทธ์และแผนงานสำคัญ
การแถลงทิศทางนโยบายขององค์กร
คู่มือการพัฒนาและส่งเสริมการปฏิบัติงานเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนและการเรียกรับสินบน
หนังสือสำคัญการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองของสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ประกาศสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)