สถานที่ติดต่อ
ศูนย์ฝึกอบรม
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณี
และเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
อาคารไอทีเอฟ ทาวเวอร์ ชั้น 3 ถนนสีลม
แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500

โทรศัพท์ 0 2634 4999 ต่อ 306
โทรสาร 0 2634 4999 ต่อ 304
อีเมล



วัน - เวลาติดต่อเจ้าหน้าที่
วันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 - 17.00 น.
เว้นวันเสาร์ - อาทิตย์ วันนักขัตฤกษ์
และวันหยุดตามประกาศของสถาบัน

ตารางราคาหลักสูตรฝึกอบรม
แบบฟอร์มใบสมัครเข้ารับการฝึกอบรม

โครงการ "ศูนย์การทดสอบและประเมินผล
เพื่อขอใบรับรองมาตรฐานสำหรับผู้ตรวจสอบอัญมณีระดับชาติ"

  1. หลักการและเหตุผล

    จุดมุ่งหมายของการจัดตั้งศูนย์การทดสอบและประเมินผล เพื่อขอใบรับรองมาตรฐานสำหรับผู้ตรวจสอบอัญมณีระดับชาติ มาจากเหตุผลที่ว่า ผู้ตรวจสอบอัญมณีเป็นวิชาชีพหนึ่ง ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศ และนับวันจะมีความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ ในสภาวะการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันและอนาคต ประกอบกับได้มีผู้สำเร็จการศึกษาวิชาการด้านอัญมณีจากมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่มีมาตรฐานที่แตกต่างกันไปมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการตรวจวัดเทียบคุณสมบัติและพื้นความรู้ของผู้ตรวจสอบอัญมณีว่าอยู่ใน มาตรฐานเดียวกันในระดับประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเป็นผลดีแก่วิชาชีพด้านการตรวจสอบอัญมณีด้วย ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายดังกล่าว สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ภายใต้สังกัดกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของประเทศในการตรวจสอบอัญมณี จึงมีดำริที่จะเป็นศูนย์กลางในการจัดการทดสอบประเมินผลเพื่อออกใบรับรองมาตรฐานสำหรับผู้ตรวจสอบอัญมณี ให้แก่บุคคลผู้ที่ผ่านเกณฑ์การทดสอบของสถาบัน

  2. วัตถุประสงค์
    • เพื่อสร้างมาตรฐานวิชาชีพผู้ตรวจสอบอัญมณีของประเทศไทย ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
    • เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของผู้ตรวจสอบอัญมณีของประเทศไทย ให้มีความรู้ ความสามารถในการประกอบอาชีพอย่างแท้จริง
    • เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้รับบริการการตรวจสอบอัญมณี ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค
    • เพื่อตอบสนองความต้องการบุคลากรด้านการตรวจสอบอัญมณีในภาคอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับที่กำลังขยายตัว

  3. คุณสมบัติผู้มีสิทธิสอบขอใบรับรอง
    3.1 กรณีจบการศึกษาด้านอัญมณีศาสตร์ หรือ สาขาที่ใกล้เคียงตามข้อกำหนด
    • สำเร็จการศึกษา ในระดับอุดมศึกษาตั้งแต่ระดับปริญาตรีขึ้นไป ในสาขาอัญมณีศาสตร์ และ/หรือ สาขาธรณีวิทยา และ/หรือ สาขาวัสดุศาสตร์ (อัญมณีและเครื่องประดับ) และ/หรือ สาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยต้องมีจำนวนหน่วยกิตการเรียนในหัวเรื่องการตรวจสอบอัญมณี การตรวจสอบอัญมณีแท้เทียม การปรับปรุงคุณภาพ และการประเมินคุณภาพอัญมณี รวมกันไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิต
    • หรือ สำเร็จหลักสูตรอัญมณีศาสตร์จากสถาบันการศึกษาที่เป็นที่ยอมรับในประเทศ และ/หรือ ระดับนานาชาติ และ/หรือ เป็นหลักสูตรที่มีการมอบประกาศนียบัตรทางด้านอัญมณีศาสตร์ อาทิเช่น GIT, Gem-A, HRD, GIA, AIGS, BIGS, SGS และ SSEF รวมถึงสถาบันที่มีชื่อเสียงอื่น ๆทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น
    3.2 กรณีไม่ได้จบการศึกษาด้านอัญมณีศาสตร์ และ/หรือ สาขาที่ใกล้เคียงตามข้อกำหนด

    จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ขึ้นไป และ/หรือสายวิชาชีพ ตั้งแต่ระดับ ปวช. ขึ้นไป จากสาขาใดก็ได้ แต่ต้องมีประสบการณ์ด้านการตรวจสอบอัญมณี หรือ ประกอบอาชีพธุรกิจด้านอัญมณีและเครื่องประดับ อย่างน้อย 3 ปี ขึ้นไป โดยเป็นผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์

  4. ประโยชน์จากการได้รับใบรับรองมาตรฐานสำหรับผู้ตรวจสอบอัญมณีระดับชาติ
    • ใบรับรองมาตรฐานสำหรับผู้ตรวจสอบอัญมณีระดับชาติ สามารถใช้เป็นหลักฐานเพื่อแสดงว่า ผู้ที่ผ่านการทดสอบเป็นบุคคลที่มีความรู้ และความสามารถ พร้อมที่จะประกอบวิชาชีพทางด้านการตรวจวิเคราะห์อัญมณีได้ เนื่องจากผ่านเกณฑ์การทดสอบจากสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางของรัฐบาล
    • องค์กร หรือ หน่วยงานต้นสังกัดของผู้ที่ผ่านการทดสอบมีความมั่นใจในเจ้าหน้าที่ และนักวิเคราะห์อัญมณีของตน อีกทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่บริษัทว่าได้รับบุคลากรที่มีคุณภาพมาร่วมงาน
    • เป็นการพัฒนาตนเอง ความรู้ ทักษะ และความสามารถ ของผู้เข้าทดสอบทางด้านอัญมณีศาสตร์ ทำให้เกิดการทบทวน และต่อยอดองค์ความรู้ ซึ่งจะสามารถนำไปใช้ในการประกอบวิชาชีพได้อย่างดียิ่ง
  5. แนวทางการสอบ / ข้อสอบ / เนื้อหาสำหรับสอบ และจำนวนชั่วโมงสอบ
    5.1 ข้อสอบเป็นภาษาไทย สำหรับภาคทฤษฎี เป็นปรนัย จำนวน 200 ข้อ มีระยะเวลาในการสอบ 2 ช.ม.

    โดยแบ่งเนื้อหาสำหรับการสอบ ดังต่อไปนี้

    ลำดับ บท หรือ หัวข้อ เนื้อหา / สิ่งที่ควรรู้ จำนวนข้อ
    1.
    คำจำกัดความและหลักการจำแนกอัญมณี
    • คำจำกัดความของอัญมณี
    • แหล่งกำเนิด / แหล่งเพชร-พลอย
    5
    2.
    การกำเนิดอัญมณี และแหล่งวัตถุดิบ
    • การกำเนิดอัญมณี
    • การจัดจำแนกอัญมณี
    10
    3.
    สมบัติของอัญมณี
    • คุณสมบัติทางกายภาพ ได้แก่ ความแข็ง, ความเหนียว, ความถ่วงจำเพาะ, แนวแตกเรียบ, รอยแตก, ผลึก, ลักษณะผลึก, สีผงละเอียด และสมบัติการมีอำนาจแม่เหล็ก เป็นต้น
    • คุณสมบัติทางแสง ได้แก่ ความโปร่ง, สี, ความวาว, การสะท้อนของแสง, ดัชนีหักเหของแสง, โพลาไรเซชันของแสง, วรรณรงค์, การกระจายแสง, การเรืองแสงของอัญมณี และปรากฏการณ์ทางแสง เป็นต้น

    กายภาพ: 20


    แสง: 25
    4.
    การตรวจสอบอัญมณี
    • เครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการตรวจสอบอัญมณี
      • เครื่องมือตรวจวิเคราะห์อัญมณี โดยใช้กำลังขยาย
      • เครื่องมือตรวจวิเคราะห์สมบัติทางกายภาพของอัญมณี
      • เครื่องมือตรวจวิเคราะห์สมบัติทางกายภาพของอัญมณี
    15
    5.
    อัญมณีที่สำคัญชนิดต่างๆ ในตลาดโลกที่ควรรู้ ได้แก่ พลอย, เพชร หิน และ อัญมณีอินทรีย์
    • คอรันดัม / เบริล
    • ลาพิสลาซูลี
    • มุก
    • เพชร และ อัญมณีสำคัญอื่นๆ
    60
    6.
    อัญมณีเลียนแบบชนิดต่างๆ ได้แก่ อัญมณีสังเคราะห์, อัญมณีประดิษฐ์ และอัญมณีปะกบ เป็นต้น
    • อธิบายชื่อ กระบวนการผลิต พร้อมยกตัวอย่างอัญมณีสังเคราะห์ อัญมณีประดิษฐ์ และอัญมณีประกบได้
    • อธิบายวิธีการสังเคราะห์อัญมณีชนิดต่างๆ ได้
    • อธิบายลักษณะทั่วไป และการจำแนกอัญมณีแท้, อัญมณีเลียนแบบได้
    25
    7.
    การปรับปรุงคุณภาพอัญมณี
    • อธิบายการปรับปรุงคุณภาพอัญมณีด้วยวิธีการต่างๆ ในระดับเบื้องต้นได้
    • จำแนกอัญมณีที่ปรับปรุงคุณภาพและไม่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพได้
    30
    8.
    การประเมินคุณภาพอัญมณี
    • อธิบายการประเมินคุณภาพอัญมณี ตามเกณฑ์การประเมินคุณภาพ, สี, ความใสสะอาด และการเจียระไนได้
    10
    รวมทั้งหมด 8 หัวข้อ  200

    เกณฑ์การสอบผ่านทฤษฏี แบ่งช่วงคะแนนได้ดังนี้ (ระบุในใบประกาศนียบัตร)
    • สอบได้คะแนนต่ำกว่าร้อยละ 70 = Failed (or Not Passed)
    • สอบได้คะแนนระหว่างร้อยละ 70 - 79 = Passed
    • สอบได้คะแนนระหว่างร้อยละ 80 - 89 = Passed with Merit
    • สอบได้คะแนนระหว่างร้อยละ 90 - 95 = Passed with Distinction
    • สอบได้คะแนนร้อยละ 96 ขึ้นไป = Passed with Excellence

    5.2 ข้อสอบเป็นภาษาไทย สำหรับภาคปฏิบัติ แบ่งเป็น 3 ส่วน และมีระยะเวลาในการสอบ 3.30 ช.ม.
    ส่วนที่ 1 (20 คะแนน) ใช้เวลา 20 นาที: ใช้ตาเปล่าและกล้องกำลังขยาย 10 เท่า (10x Loupe) เกณฑ์การผ่าน ร้อยละ 80 ขึ้นไป
    ส่วนที่ 2 (20 คะแนน) ใช้เวลา 30 นาที: ใช้เทคนิคการวิเคราะห์อัญมณีด้วยเครื่องมือต่างๆ อาทิ เช่น Dichroscope, SG Balance, Refractometer, Polariscope และ Spectroscope เป็นต้น เกณฑ์การผ่าน ร้อยละ 80 ขึ้นไป
    ส่วนที่ 3 (60 คะแนน) แบบ Full identification ใช้เวลา 2.40 ชั่วโมง: ใช้กล้องไมโครสโคป และเครื่องมือแบบเต็มรูปแบบ สำหรับอัญมณี จำนวน 10 ตัวอย่าง เกณฑ์การผ่าน ร้อยละ 100 ขึ้นไป

    หมายเหตุ: อนุญาตให้นำคู่มือการตรวจวิเคราะห์อัญมณี (Lab Manual) เข้าห้องสอบภาคปฏิบัติได้ ทั้งนี้ผู้สอบต้องผ่านเกณฑ์ทั้ง 3 ส่วน ถึงจะถือว่าผ่านภาคปฏิบัติ
    เกณฑ์การสอบภาคปฏิบัติ สำหรับผู้ผ่านการทดสอบทั้ง 3 ส่วน (ระบุเป็น % ที่สอบได้ ในใบประกาศนียบัตร)
    ทั้งนี้ ถ้าสอบไม่ผ่านตามเกณฑ์ส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็จะถือว่าสอบไม่ผ่านภาคปฏิบัติ

  6. พิเศษ!! ค่าธรรมเนียมการทดสอบ (เฉพาะปี 2556 เท่านั้น)
    ค่าลงทะเบียนทดสอบรวมภาคทฤษฎี และปฎิบัติ
    • สำหรับบุคคลทั่วไป 1,500 บาท/ครั้ง (จากปกติ 3,000 บาท)
    • สำหรับนิสิต - นักศึกษา 500 บาท/ครั้ง (จากปกติ 1,000 บาท)


    ถ้าผู้สอบไม่ผ่านเกณฑ์ในการสอบครั้งแรก สามารถลงทะเบียนสอบซ่อมในครั้งต่อไปได้ โดยมีสิทธิ์สอบซ่อม 2 ครั้งภายในระยะเวลา 1 ปี มิเช่นนั้นต้องลงทะเบียนสอบใหม่ (สอบซ่อมภาคทฤษฎี 500 บาท / สอบซ่อมภาคปฏิบัติ 1,000 บาท)

  7. จำนวนครั้งที่สถาบันจัดสอบ

    สถาบันจัดการทดสอบ 3 ครั้ง/ปี คือ เดือนกรกฎาคม, เดือนกันยายน และเดือนพฤศจิกายน ของทุกปี การสอบใน 1 ครั้งจะมีจำนวน 3 รอบ โดยสถาบันจะกำหนดไว้ในใบสมัครเพื่อให้ผู้สมัครเลือกรอบวันสอบด้วยตนเอง

  8. ระยะเวลาสิ้นสุดอายุใบรับรองเป็นผู้ตรวจสอบอัญมณี

    ระยะเวลา 3 ปี นับจากวันที่รับใบประกาศฯ โดยผู้ที่ใบประกาศฯ หมดอายุจะต้องมาทำการทดสอบใหม่กับสถาบันโดยตรงเท่านั้น

  9. ข้อเสนอแนะอื่นๆ
    • ไม่อนุญาตให้นำเครื่องมือสื่อสาร หรือ เครื่องอิเล็คทรอนิคทุกชนิดเข้าห้องสอบ
    • เมื่อสอบผ่านจะได้รับ GIT Gemology Specialist Certificate (GGS) โดยในประกาศนียบัตรดังกล่าว จะระบุระดับคะแนนที่สอบผ่าน ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฎิบัติ
    • ผู้ที่สนใจทดสอบสามารถดูเนื้อหาที่จะต้องสอบ และสัดส่วนความสำคัญได้จากตารางที่จะลงแจ้งทางเว็บไซต์สถาบัน: www.git.or.th หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ฝึกอบรม โทร. 0 2634 4999 ต่อ 301-313 ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ ระหว่างเวลา 9.30-16.30 น.

    หมายเหตุ: รายละเอียดต่าง ๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม ซึ่งสถาบันจะแจ้งให้ทราบล่วงหน้า