สถานที่ติดต่อ
ศูนย์ให้คำปรึกษา
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณี
และเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
อาคารไอทีเอฟ ทาวเวอร์ ชั้น 4 ถนนสีลม
แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500

โทรศัพท์ 0 2634 4999 ต่อ 425
โทรสาร 0 2634 4999 ต่อ 436
อีเมล

เวลาทำการ
วันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 - 17.00 น.
เว้นวันเสาร์ - อาทิตย์ วันนักขัตฤกษ์
และวันหยุดตามประกาศของสถาบัน

แนะนำบริการ
ความเป็นมาศูนย์ให้คำปรึกษา
ขอบเขตของการให้คำปรึกษา
แบบฟอร์มใบสมัครการเข้ารับการให้คำปรึกษา
แพ็คเกจงานบริการที่ปรึกษาด้านการทำมาตรฐาน

บริการให้คำปรึกษาแนะนำ

สถาบันมีความสามารถและความเชี่ยวชาญในด้านอัญมณีและเครื่องประดับ มีการดำเนินการที่ได้รับการรับรองตามระบบคุณภาพมาตรฐานสากลคือ ระบบบริหารงานคุณภาพ ISO9001 ระบบมาตรฐานห้องปฏิบัติการ ISO/IEC 17025 และระบบมาตรฐานสากลสำหรับระบบการจัดการความปลอดภัยของข้อมูล (Information Security Management Systems : ISMS) ISO/IEC 27001 รวมทั้งมีการจัดทำมาตรฐาน (GIT Standard) ด้านการตรวจสอบอัญมีและเครื่องประดับ รวมทั้งโลหะมีค่า มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ และมีความสามารถในด้านการตรวจสอบอัญมณี โลหะมีค่า และเครื่องประดับ และในด้านระบบคุณภาพมาตรฐานสากลดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ดังนั้นสถาบันจึงมีความพร้อมที่จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาในด้านต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมได้ครอบคลุมในทุกด้าน

สถาบันจึงได้มีการบริการให้คำปรึกษา แบ่งเป็น 2 ด้าน

  1. ด้านการทำมาตรฐาน มีดังนี้
    • มาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ ISO 9001 คือ การจัดวางระบบบริหารงานเพื่อการประกันคุณภาพ ซึ่งเป็นระบบมาตรฐานบริหารงานคุณภาพระดับสากลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการคุณภาพในองค์กร เหมาะกับทุกองค์กรในทุกสายงาน ช่วยยกระดับประสิทธิภาพในการทำงานและกระตุ้นให้องค์กรมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และสามารถนำไปพัฒนาองค์กรในด้านคุณภาพ เพื่อความเป็นเลิศ อีกทั้งเพื่อให้มั่นใจว่าบุคลากรในองค์กร รู้หน้าที่ความรับผิดชอบและขั้นตอนต่างๆ ในการปฏิบัติงาน ที่ถูกต้องและตรวจสอบได้
    • มาตรฐาน GIT Standard มาตรฐานสำหรับห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศ เปิดโอกาสให้ห้องปฏิบัติการภายในประเทศสามารถพัฒนาและยกระดับคุณภาพมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์/ทดสอบสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับและเพื่อให้ห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับที่มีศักยภาพอยู่แล้ว สามารถอ้างอิงมาตรฐานด้านการวิเคราะห์/ทดสอบเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดย GIT Standard ครอบคลุม 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) มาตรฐานการให้บริการของห้องปฏิบัติการ (2) มาตรฐานวิธีการวิเคราะห์/ทดสอบอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า และ (3) มาตรฐานบุคลากรของห้องปฏิบัติการ
    • มาตรฐาน ISO/IEC 17025 ข้อกำหนดทั่วไปว่าด้วยความสามารถของห้องปฏิบัติการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบ (General Requirements for the Competence of Testing and Calibration Laboratories) ซึ่งจะประกอบด้วยข้อกำหนดด้านการบริหารงานคุณภาพ และข้อกำหนดด้านวิชาการ ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นในความสามารถในการทดสอบ หรือสอบเทียบของห้องปฏิบัติการ มีความสำคัญอย่างยิ่งกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ผลการทดสอบ/สอบเทียบ ที่มีความเที่ยงตรงแม่นยำเชื่อถือได้เป็นบรรทัดฐานการวัดและการทดสอบผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ และยังช่วยขจัดอุปสรรคในการกีดกันทางการค้าอันเนื่องมาจาก การทดสอบและลดการตรวจซ้ำจากประเทศคู่ค้าต่างๆ โดยมาตรฐานนี้สามารถที่จะนำมาใช้ได้กับทุกองค์กรที่มี การดำเนินกิจกรรมการทดสอบและหรือสอบเทียบ

  2. ด้านการควบคุมคุณภาพ มีดังนี้
    • การทดสอบเพื่อควบคุมมาตรฐานกระบวนการผลิต กิจกรรมทุกอย่างที่ผู้ผลิตปฏิบัติ เพื่อให้เป็นตามข้อกำหนดของหลักการหรือมาตรฐาน และรวมถึงบุคลากรผู้ควบคุมคุณภาพ พนักงานของผู้ผลิตโดยตรง ระบบการตรวจสอบคุณภาพสำหรับผู้ผลิตนั้นครอบคลุมกิจกรรมต่างๆมากมาย เช่น (1) การควบคุมวัตถุดิบ (2) การควบคุมกระบวนการผลิต (3) การตรวจสอบ (4) การจัดเก็บสถิติการผลิต เก็บข้อมูลปัญหาของสินค้า เพื่อจะได้เป็นข้อมูลไว้ใช้ (5) การวิเคราะห์ปัญหา วิเคราะห์หาต้นเหตุของปัญหา นำข้อมูลที่จัดเก็บไว้มาวิเคราะห์หาต้นเหตุของปัญหา (6) การหาวิธีป้องกันและแนวทางการป้องกันการเสียหายของวัตถุดิบ อีกทั้งมาตรการเพื่อการปรับปรุงหรือพัฒนา การควบคุมคุณภาพในแต่ละขั้นตอนการผลิต การตรวจสอบและทดสอบ การจดบันทึกข้อมูลคุณภาพ และอื่นๆ เป็นมาตรการที่ต้องทำเป็นประจำในกระบวนการผลิต และเป็นมาตรการที่ทำเพื่อให้สินค้ามีคุณภาพตรงตามที่ต้องการ และมีความสม่ำเสมอ โดยมีวัตถุดิบและต้นทุนเสียน้อยที่สุด
    • การควบคุมคุณภาพ/ประกันคุณภาพ (QC/QA) ให้สอดคล้องมาตรฐาน ในกระบวนการ การตรวจสอบและการควบคุมคุณภาพ (QC) และ การประกันคุณภาพ (QA) นั้นต่างเป็นกระบวนการตรวจสอบเพื่อทำการป้องกัน (Prevention) การเกิดความผิดพลาดที่สามารถส่งผลต่อคุณภาพของสินค้าและบริการในทุกด้าน โดยที่ QC จะให้ความสนใจในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ ส่วน QA จะสนใจวงจรคุณภาพ (Quality Loop) เป็นหลัก

      QC (Quality Control) การควบคุมคุณภาพสินค้าให้เป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ และสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าสูงสุด ด้วยกระบวนการ Inspection คือกระบวนการการตรวจสอบตำหนิและจุดบกพร่องของผลิตภัณฑ์ เพื่อที่จะทำการส่งกลับไปแก้ไขหรือคัดทิ้ง จากนั้นจึงทำการบันทึกและเก็บสถิติของลักษณะรวมทั้งจำนวนผลิตภัณฑ์ต่างๆที่เกิดการบกพร่อง สำหรับนำไปวิเคราะห์สาเหตุปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น แล้วจึงทำการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้ผู้ผลิตสามารถทำการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับคุณสมบัติที่ตั้งไว้มากที่สุดต่อไป

      QA (Quality Assurance) กระบวนการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพของสินค้า ด้วยการวิเคราะห์หาสาเหตุข้อบกพร่องและความผิดพลาดของผลิตภัณฑ์จากเอกสาร work instructions เป็นหลักในการผลิตสินค้า ซึ่งจะเป็นกระบวนการที่แตกต่างจาก QC เนื่องจากเป็นการตรวจสอบกระบวนการผลิตตั้งแต่เริ่มต้นจากเอกสาร แทนการคัดแยกของเสียออกจากของดีในขั้นตอนสุดท้าย ที่เป็นการเพิ่มต้นทุนและเสียเวลาโดยใช่เหตุ
    • แก้ปัญหาในกระบวนการ วิเคราะห์หาต้นเหตุของปัญหา นำข้อมูลที่จัดเก็บไว้มาวิเคราะห์หาต้นเหตุของปัญหา เช่น ปัญหาความล่าช้า ปัญหาของเสียหาย เป็นต้น เมื่อวิเคราะห์จนทราบต้นเหตุของปัญหา จะได้กำหนดวิธี การแก้ไข และวิธีการป้องกันต่อไป