แอเมทิสต์ (Amethyst)

แอเมทิสต์ (Amethyst) เป็นคำในภาษากรีก มีความหมายว่า "Not Drunken" โดยมีความเชื่อว่า ถ้าดื่มไวน์จากแก้วที่ทำมาจากแอเมทิสต์ จะทำให้ผู้ดื่มไม่มึนเมา แอเมทิสต์ เป็นพลอยประจำเดือนกุมภาพันธ์


รูปที่ 1 ผลึกแอเมทิสต์

แอเมทิสต์ หรือพลอยสีดอกตะแบก เป็นอัญมณีสีม่วงคราม - ม่วงแดง มีลักษณะเป็นผลึกเดี่ยว (Crystalline Varieties) (รูปที่ 1) อยู่ในประเภทควอตซ์ (Quartz Species) มีองค์ประกอบทางเคมี คือ SiO2 สีม่วงเกิดจากธาตุเหล็ก (Fe) ที่เป็นธาตุร่องรอย (Trace elements) ในโครงสร้างผลึก มีความแข็งเท่ากับ 7 ตามโมห์สเกล (Mohs' Scale of Hardness) แอเมทิสต์ที่มีความใสสะอาดนิยมนำมาเจียระไนแบบต่างๆ ส่วนแอเมทิสต์ที่มีลักษณะขุ่น มีความใสน้อยหรือค่อนข้างทึบแสงนิยมนำมาแกะสลัก (รูปที่ 2) นอกจากนี้เนื่องจากมีลักษณะผลึกที่สวยงามตามธรรมชาติจึงสามารถใช้วางเป็นของประดับตกแต่งได้โดยไม่จำเป็นต้องเจียระไน (รูปที่ 3)

รูปที่ 2 แอเมทิสต์ที่มีความใสนำมาเจียระไน (ซ้าย), แอเมทิสต์แกะสลัก (ขวา)

รูปที่ 3 แอเมทิสต์ที่มีลักษณะผลึกสวยงาม นำมาทำเป็นของประดับตกแต่ง

แอเมทิสต์ สามารถนำมาเผาที่อุณหภูมิประมาณ 470 - 750 องศาเซลเซียส จะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือที่มีชื่อเรียกว่าซิทริน (Citrine)

แหล่งที่พบแอเมทิสต์ที่มีคุณภาพ ได้แก่ ในประเทศบราซิล, มาร์ดากัสการ์, แซมเบีย, อุรุกวัย, พม่า, อินเดีย, แคนาดา, แมกซิโก, นามีเบีย, รัสเซีย, ศรีลังกา และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น


แหล่งข้อมูล:

Practical Gem Handbook, GemA;
Gem Reference Guide, GIA;
The Macdonald Encyclopedia of Precious Stones, Cipriani, C. and Borelli, A.;
Gemstones of the World, Schumann, W.;
แร่, กรมทรัพยากรธรณี
ศัพท์บัญญัติอัญมณี, มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม