อะความารีน (Aquamarine) และหินเลือด (Blood stone)

อัญมณีประจำเดือนมีนาคมมีอยู่ด้วยกันสองชนิด ชนิดแรกคือ อะความารีน และอีกชนิดหนึ่งคือ หินเลือด

อะความารีน (Aquamarine) เป็นอัญมณีชนิดหนึ่งในประเภทเบริล (Beryl) มีสีฟ้าอมเขียวถึงสีฟ้า-เขียว มีสูตรเคมีคือ Be3Al2Si6O18 ธาตุให้สีคือ ธาตุเหล็ก (Fe) คำว่าอะความารีนมาจากภาษาละติน "Aqua" แปลว่า น้ำ "Mare" แปลว่า ทะเล ชื่อเรียกอะความารีนจึงบ่งชี้ถึงสีที่คล้ายกับน้ำทะเลนั่นเอง ค่าความแข็ง ประมาณ 7.5 - 8 มีค่าความถ่วงจำเพาะ ประมาณ 2.72

รูปที่ 1 แสดงรูปอะความารีน

ตามความเชื่อที่ผ่านมาหลายศตวรรษ มีการนำอะความารีนมาใช้เป็นเครื่องรางของขลังในการป้องกันอุบัติเหตุและอันตรายต่างๆ ถือกันว่าเป็นหินกันภัย (Stone of Safety) และเป็นพลอยแห่งความอ่อนวัยตลอดกาล (Gem of eternal youth) จะช่วยให้ผู้ครอบครองมีจิตว่าง สงบไม่ฟุ้งซ่าน มีแต่ความสุขกายสบายใจ ช่วยให้มีความอดทนสูง ก่อให้เกิดความกล้าหาญ และขจัดความเกียจคร้านทั้งปวง

อะความารีนพบเกิดในหินเพกมาไทต์ (Pegmatite) และในหินแกรนิต (Granite) พบได้หลายแห่งโดยมีแหล่งที่สำคัญที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยมาลากาซี(มาดากัสการ์) บราซิล ไนจีเรีย สหรัฐอเมริกา แซมเบีย และในแถบเทือกเขาอูราลในประเทศรัสเซีย

หินเลือด (Blood stone) หรือ Heliotrope เป็นแร่ตระกูลควอรตซ์ชนิดคาลซีโดนี เนื้อพื้นมีสีเขียวแก่และมีจุดแดงๆของแจสเปอร์(Jasper) ปะปนหรือประเป็นจุดในเนื้อพื้นที่มีสีเขียวนั้น ส่วนประกอบทางเคมีเป็นซิลิกอนไดออกไซด์(SiO2) การเจียระไนมักจะเจียระไนเป็นรูปหลังเบี้ย หรือนำมาแกะสลักเป็นรูปและลวดลายแบบต่างๆ หินเลือดมักเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ชายมากผู้หญิง เชื่อกันว่าเครื่องรางชนิดใดก็ตามที่มีหินเลือดรวมอยู่ด้วย จะช่วยระงับเลือด ป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียเลือดขึ้นได้

รูปที่ 2 แสดงรูปหินเลือด (Blood Stone)

แหล่งหินเลือดที่สำคัญคือ ประเทศอินเดีย นอกจากนั้นมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และ บราซิล ในสกอตแลนด์ อุรุกวัย อียิปต์ ไซบีเรีย และแคนาดา ก็พบชนิดที่มีสีสวยอยู่บ้างเช่นกัน


แหล่งข้อมูล:

พลอยประจำเดือนเกิด BIRTHSTONES OF THE MONTH, พงค์ศักดิ์ วิชิต
Gem reference guide, GIA
Gems their sources descriptions and identification, Webster Read, 5th edition