ไพลิน (Blue Sapphire)

"ไพลิน (Blue Sapphire)" เป็นพลอยประจำเดือนเกิดของผู้ที่เกิดเดือนกันยายน และไพลินยังถือเป็นสัญญลักษณ์ที่คู่รักนิยมมอบเป็นของขวัญให้แก่กันในโอกาสครบรอบการแต่งงานในปีที่ 5, 15, 23 และ ปีที่ 45 ไพลินได้รับความนิยมในหมู่คนทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ไพลินจัดเป็นแร่ในประเภท (Species) คอรันดัม (Corundum)เช่นเดียวกับทับทิม (Ruby) ซึ่งพลอยคอรันดัมนี้เป็นพลอยที่มีความแข็งรองลงมาจากเพชร จึงทำให้ไพลิน เหมาะอย่างยิ่งที่จะนำไปทำเครื่องประดับ

ปัจจุบันหากพูดถึงแซฟไฟร์ "Sapphire" คำเดียวจะหมายถึง Blue Sapphire หรือ ไพลิน เพราะ Sapphire มาจากภาษาเปอร์เชีย "Saffir" หรือ จาก ภาษากรีก "Sappheiros"แปลว่า ผู้เป็นที่รักของ Saturn (เทพเจ้าแห่งกรีก) และหมายถึงสีน้ำเงิน "Blue" ซึ่งสมัยโบราณ จะเรียกพลอยคอรันดัมที่มีสีน้ำเงินว่าแซฟไฟร์แต่ในความเป็นจริงพลอยคอรันดัมประเภท Sapphire มีได้หลากสี เช่น สีเหลือง, ชมพู, ม่วง, เขียว เป็นต้น ดังนั้นหากเราต้องการจะเรียกพลอยคอรันดัมชนิดอื่นที่ไม่ใช่ไพลิน (Blue Sapphire) เราจะต้องระบุ สีด้วย เช่น Yellow Sapphire(บุษราคัม), Green Sapphire (เขียวส่อง), Pink Sapphire (พลอยแซปไฟร์สีชมพู) เป็นต้น ในปัจจุบันไพลินส่วนใหญ่มักผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยความร้อนหรือที่เราเรียกกันว่าการเผา แต่ก็ได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไปในตลาดพลอย เพราะการเผาจะทำให้สีดีของไพลินดีขึ้นและอยู่คงทนถาวร

สมบัติของไพลิน (Blue Sapphire)



สูตรเคมี (Chemical composition)
อะลูมิเนียม ออกไซต์ (Al2O3)

ค่าดัชนีหักเห (RI)
ประมาณ 1.76-1.77

ค่าไบรีฟรินเจนซ์ (Birefringence)
ประมาณ 0.008-0.012

ลักษณะทางแสง (Optical nature)
ดัชนีหักเหคู่ (DR) Uniaxial

ความวาว (Luster)
วาวแบบแก้ว (Vitreous)

ระบบผลึก(Crystal system)
ระบบสามแกนราบ (Trigonal)

ความแข็ง (Hardness)
ประมาณ 9

ความถ่วงจำเพาะ (SG)
ประมาณ 3.80-4.05

ชาวเปอร์เซียโบราณเชื่อกันว่าแซฟไฟร์ คือ "หินที่มาจากฟ้า" เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่าโลก ตั้งอยู่บน แซฟไฟร์ ขนาดมหึมา จึงทำให้สะท้อนแสงแดด ออกไปสู่ท้องฟ้ามีสีน้ำเงิน ตามตำนานกล่าวว่า แซฟไฟร์เป็นพลอยของกษัตริย์ที่ใช้สวมใส่เพื่อป้องกันภยันตราย ทำให้เชื่อกันว่าผู้ที่สวมใสไพลินจะมีชีวิตที่สดใส มีพลังในการดำรงชีวิต และไพลินนี้สามารถปกป้องอันตรายแก่ผู้ที่สวมใส่ได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังถือเอาไพลินนี้เป็นสัญลักษณ์ของความจริงใจ และมั่นคงอีกด้วย


แหล่งข้อมูล:

Ruby&Sapphire by Richard W. Hughes
Pratical Gem Handbook, GemA;
Gem Reference Guide, GIA;
แร่, กรมทรัพยากรธรณี
ศัพท์บัญญัติอัญมณี, มาตรฐานผลิตพันธ์อุตสาหกรรม