เกาะกระแสความนิยมพลอยสีและเครื่องประดับในปี 2013

ในปี 2013 นี้เราจะเห็นได้ว่ามีการใช้พลอยสีหลากหลายประเภทในแนวทางใหม่ๆ มากขึ้น จากปี 2012 ที่นักออกแบบนำพลอยสีขนาดใหญ่ไปใช้ในการออกแบบสร้างสรรค์มากขึ้น ให้มีความโดดเด่นมากขึ้น และเจิดจ้ามากขึ้น แต่ในปี 2013 นั้นจะมีการนำพลอยสีทั้งที่เป็นพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อน ไปผสมผสานกับสีสัน และ โลหะมีค่าชนิดต่างๆ อย่างน่าตื่นตาตื่นใจเลยทีเดียว

ด้วยสีสันที่เรียบง่ายและไม่สะดุดตามากเกินไป เช่นสีฟ้า สีเขียวอมฟ้า สีเทา และ สีชมพูอ่อน และสีเขียวเข้ม ทำให้ พลอยจำพวกควอตซ์ต่างๆ และพลอยเนื้ออ่อนย้อมสี รวมทั้งโมรา ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในปี 2012 ยังคงได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องมายังปี 2013 แต่สำหรับในปีนี้จะมีการนำพลอยสีสดๆ ในโทนสีสันอันสดใส มาผสมด้วย อย่างสีเขียวมรกต และ สีม่วงเข้มของแอเมทิสต์ ที่ไม่ฉูดฉาดจนเกินไป


สำหรับการออกแบบเครื่องประดับ ในปี 2013 นี้ นักออกแบบเริ่มที่จะใช้วัสดุที่แตกต่างและไม่ธรรมดาลงบนชิ้นงานเครื่องประดับอย่างเสรีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอัญมณีที่ไม่ผ่านการเจียระไน แก้วไฟเบอร์ออพติก หินชนวน หนังปลากระเบน กระดูกไดโนเสาร์ ฟันสัตว์ ฟอสซิล และหินอุกกาบาท โดยสร้างสรรค์รูปลักษณ์ของเครื่องประดับให้ดูเรียบง่าย และชวนให้สัมผัสด้วยสีสันอันสวยงามของพลอยสีชนิดต่างๆ

อย่างเช่นผลงานการออกแบบของนักออกแบบเครื่องประดับชาวสก็อต Dauvit Alexander ที่นำลักษณะของเครื่องประดับยุโรปยุคเรอเนสซองส์มาใส่ไว้ในเครื่องประดับของเขา และปรับเปลี่ยนให้มีความนุ่มละมุนมากขึ้น และเน้นการแสดงตัวตนของผู้สวมใส่ โดยแฝงการสื่อความหมายและแนวคิดต่างๆ ผ่านชิ้นงาน และวัสดุที่ Alexander เลือกใช้นั้น เค้าเลือกขาโต๊ะนักเรียนที่ทำจากเหล็ก และชิ้นส่วนข้างกล่องเครื่องมือเก่าที่ขึ้นสนิม เข็มจักรเย็บผ้าที่ใช้แล้ว และพลาสติกเรืองแสงจากรถเก่า มาใช้ โดยมีเงินเป็นวัสดุล้อมกรอบ จากนั้นนำไปตกแต่งด้วยอัญมณีสีสันสวยงาม เช่น ทัวร์มาลีน สปิเนลสีดำ บุษราคัม โทแพซ มรกต แอเมทิสต์ และโกเมน

   

รหัส DNA

แนวคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบและสร้างสรรค์เครื่องประดับอันน่าตื่นตาตื่นใจนั้นล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของการใช้น้อยแต่ได้มาก เพราะว่ามันหายาก มีเอกลักษณ์ และมีจำนวนจำกัด มีนักออกแบบมากมายที่อาศัยเสน่ห์และความเย้ายวนของความพิเศษนี้มาผนวกกับชื่อเสียงของคนดัง และทำการออกแบบเพื่อสื่อความหมายพิเศษออกไป อาทิ การออกแบบของ Ari Soffer นักออกแบบเครื่องประดับในลอสแองเจอลีส ที่สร้างสรรค์เครื่องประดับในชุด John Lennon DNA Tooth Pendant โดยได้ร่วมมือกับทันตแพทย์ผู้มีฟันของ John Lennon และนำมาออกแบบจี้ดีเอ็นเอจากเงินสเตอร์ลิงที่มีมูลค่าสูงถึง 25,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อรณรงค์เรื่องปัญหามะเร็งในช่องปาก ซึ่งจี้เงินด็อกแท็กที่ออกแบบนี้ได้มีการออกแบบเป็นรูปเครื่องหมายสันติภาพ ซึ่งเข้ากับภาพลักษณ์ของ John Lennon ที่เป็นผุ้สนับสนุนคนสำคัญในการสร้างสันติภาพและความรักให้เกิดขึ้นในโลกใบนี้ เป็นต้น


อ้างอิงข้อมูลจาก สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)