เคล็ดลับเลือก “หยก” อย่างไรให้มีคุณค่าที่คุณคู่ควร

การซื้อขายหยกส่วนใหญ่ มักคิดเป็นราคาต่อชิ้นโดยราคาอาจขึ้นกับความพอใจและการเจรจาตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยทั่วไปหยกที่มีขนาดใหญ่กว่า หนากว่า เจียระไนหรือแกะสลักแบบที่ทำได้ยากกว่า มักมีราคาสูงกว่าหยกในคุณภาพสีเดียวกัน ที่มีขนาดเล็กกว่า บางกว่า เจียระไนแบบที่ง่ายกว่า

หลักเกณฑ์ในการเลือกซื้อหยกได้แก่
  1. สี หยกสีเขียว เช่น สีเขียวมรกต เขียวแอปเปิล เขียวแกมเหลือง เขียวแกมเทา ควรมีความเข้มของสีปานกลางหรือกึ่งเข้ม สีสม่ำเสมอกันทั่วทั้งเม็ด ไม่มีจุดแต้มหรือรอยด่างของสี บริเวณที่มีสีเขียวเข้มดำมักจะแกะสลักหรือเจียระไนให้บางมากที่สุดเพื่อช่วยให้มีความโปร่งใสขึ้น สวยงามมากขึ้น และอาจขายได้ในราคาที่สูงเกินความเป็นจริง ซึ่งเทคนิควิธีการเจียระไนและการเข้าตัวเรือนอาจทำให้ยากต่อการสังเกตและตรวจสอบ

  2. ความโปร่งใส เนื้อหยกควรมีลักษณะโปร่งแสง กึ่งโปร่งใส และโปร่งใส ขึ้นกับปริมาณของแสงว่าส่องผ่านทะลุได้มากน้อยเพียงใด โดยความโปร่งใสนี้จะสัมพันธ์กับลักษณะเนื้อแร่ คือความละเอียดหรือความหยาบของผลึกแร่ที่เกาะประสานกันในเนื้อ หยกที่มีเนื้อเป็นผลึกแร่เล็กละเอียดประสานกันแน่น มักมีความโปร่งใสมาก ส่วนหยกทีมีเนื้อเป็นผลึกแร่ค่อนข้างใหญ่ หยาบ เนื้อประสานกันได้ไม่ดี มักไม่ค่อยมีความโปร่ง ดังนั้นควรเลือกซื้อหยกที่ความโปร่งใสมากกว่าในกรณีที่หยกมีสีเดียวกัน แต่เมื่อเปรียบเทียบระหว่างหยกที่มีสีสดสวยแต่ไม่ค่อยมีความโปร่งใสกับหยกที่มีความโปร่งสูง แต่มีสีไม่ค่อยสวย ควรจะเลือกซื้อหยกที่มีสีสวยกว่า ซึ่งก็คือต้องพิจารณาที่สีเป็นปัจจัยแรก

  3. ความวาว เหมือนขี้ผึ้งหรือน้ำมัน มองดูนุ่มนวลเหมือนปุยนุ่น ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของหยกเนื้อละเอียดที่มีความโปร่งใสบ้าง แต่หากมีความวาวเหมือนแก้ว จะถือเป็นหยกคุณภาพดี เนื้อละเอียด มีความโปร่งใสสูง ซึ่งค่อนข้างหาได้ยาก

  4.        

  5. ความสะอาด พิจารณาจากตำหนิ มลทินต่างๆ เช่น ลักษณะรอยแตกร้าว รอยปะ รอยขีดข่วนต่างๆ ลักษณะจุดสี หย่อมสีหรือรอยด่างของสี (ขาวหรือดำ) เป็นต้น หยกที่มีตำหนิมลทินต่างๆ มาก จะทำให้ความสวยงามลดลงเช่นกัน จึงควรเลือกซื้อหยกที่มีตำหนิดังกล่าวน้อยที่สุดหรือมีขนาดเล็กที่สุดนั่นเอง

  6. การเจียระไน ขัดมัน และการแกะสลัก ดูความคงทนถาวร ความกลมกลืน ความสมบูรณ์ของรูปแบบ สัดส่วน ความสมดุลและความมีเอกภาพของรูปแบบ ซึ่งอาจขึ้นกับรสนิยมทางศิลปะของแต่ละบุคคล แต่ละยุคสมัยด้วย เช่น กำไลหยก ควรมีความหนาอย่างน้อยประมาณขนาดมวนบุหรี่โดยทั่วไป ซึ่งอาจช่วยให้ลดโอกาสของการแตกได้บ้าง

  7. หยกปรับปรุงคุณภาพ ในปัจจุบัน มีวิธีการปรับปรุงคุณภาพหยกในเรื่องของสีเป็นส่วนใหญ่ เช่น ย้อมสี อัดเคลือบสารโพลีเมอร์ หรือ ทั้งย้อมสีและเคลือบสารโพลีเมอร์ เป็นต้น การย้อมสี ส่วนใหญ่มักย้อมเป็นสีเขียวหรือม่วงหรือสีอื่นๆ เช่น สีน้ำตาล สีเหลือง การย้อมสีหยกมีเทคนิคต่างๆที่ทันสมัย ซึ่งอาจให้สีที่คงทนถาวรหรือไม่ก็ได้ ในตลาดค้าหยกจะเรียกหยกที่ผ่านการย้อมสีว่า C-jade และบางครั้งก็ยากเกินกว่าที่จะตรวจสอบได้ด้วยตาเปล่า ส่วนการอัดเคลือบสารโพลีเมอร์หลังจากการแช่ในกรดเพื่อทำให้เนื้อสะอาดขึ้นและมีผิวมันวาวสวยงาม ในตลาดจะเรียกว่า B-jade การตรวจสอบด้วยตาเปล่าทำได้ค่อนข้างยากเช่นกัน ต้องอาศัยผู้ชำนาญเท่านั้น และหยกชนิดที่มีทั้งการย้อมสีและการอัดเคลือบสารโพลีเมอร์หลังการแช่กรดเพื่อทำให้สีเข้มสวย โดยเฉพาะสีเขียว มีความคงทน มีประกายวาวสวยงาม ในตลาดค้าหยกเรียกว่า B+C jade การตรวจสอบด้วยวิธีการธรรมดาทำได้ยากเช่นกัน ส่วนหยกธรรมชาติที่ไม่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพใดๆ จะเรียกว่า A- jade
    นอกจากนี้ ยังมีการเคลือบผิวด้วยไข ขี้ผึ้ง หรือ น้ำมันบางอย่าง เพื่อให้ดูแวววาวเกินกว่าความเป็นจริง ทำให้ดูสวยงามน่าซื้อ

  8. หยกเทียม เป็นพลอยหรือหินชนิดอื่นๆ วัตถุอื่นหรือสิ่งที่มีลักษณะคล้ายหยก มาทำเรียกชื่อหรือหลอกขายเป็นหยก ที่พบบ่อยมากจะเป็นแร่ควอตซ์ชนิดเนื้อละเอียด (chalcedony) ย้อมสีเขียว,สีม่วง,พลอยอื่นๆ ที่เรียกชื่อเป็นหยก เช่น หยกอินเดีย (Indian jade) แท้จริงคืออะเวนจูรีนควอตซ์ (aventurine quartz) หยกออสเตรเลีย (Australian jade) ซึ่งเป็นควอตซ์เนื้อละเอียดชนิดคริโซเพรส หรือ หยกเกาหลี (Korean jade) ซึ่งก็คือเซอร์เพนทีน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีแก้ว พลาสติก ทำสี ย้อมสีแล้วอัดด้วยความดันสูง ให้เหมือนหยก เช่น Meta jade ทำจากแก้ว Imori glass การตรวจสอบหยกเทียมต่างๆเหล่านี้ อาจต้องใช้ความรู้ทางอัญมณีศาสตร์ช่วย

สำหรับผู้ที่สนใจเรื่อง หยก ตลอดจนการตรวจสอบหยก และเทคนิคการเลือกซื้อ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้จัดการสัมมนาในหัวข้อ “จากตำนานสู่การค้า...หยก” ขึ้นในวันที่ 26 ตุลาคม 2556 เวลา 9.30 - 16.30 น. ณ ห้องประชุมชั้น 3 สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02 634 4999 ต่อ 301 - 306 หรือได้ที่ www.git.or.th