เทคนิคการฝังอัญมณี

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบอัญมณี ในวันนี้เรามีเทคนิคการฝังอัญมณีมาแนะนำให้ทุกท่านได้ทราบกัน สำหรับการฝังอัญมณีในแต่ละแบบก็มีความแตกต่างกัน และมีความสวยงามที่แตกต่างกันออกไป ตามความคิดและการสร้างสรรค์ของนักออกแบบเครื่องประดับแต่ละคน

การฝังเหยียบหน้า (Gypsy Setting) เป็นการฝังอัญมณีที่มีมาแต่ยุคเริ่มต้นของเครื่องประดับ และในปัจจุบันก็ยังมีให้เห็นอยู่ โดยส่วนใหญ่จะใช้การฝังลักษณะนี้กับแหวนผู้ชาย เป็นการฝังอัญมณีที่เจียระไนทรงหลังเบี้ย หรืออัญมณีที่มีขนาดปานกลาง ซึ่งในการฝังนั้น จะเจาะช่องสำหรับฝังอัญมณีก่อน และทำบ่าวางอัญมณีจากนั้นดันเอาเนื้อโลหะไม่เกาะรอบตัวอัญมณีไว้ โดยไม่ตั้งตัวกะเปาะ อัญมณีควรเจียระไนให้ด้านบนแบบมีลักษณะเป็นตัวที (Table cut) เพื่อให้เนื้อโลหะเกาะขอบอัญมณีได้ดี ซึ่งคนไทยจะเรียกการฝังอัญมณีลักษณะนี้ว่า การฝังเหยียบหน้า

การฝังหุ้ม (Besel Setting) เป็นการทำเรือนรอบตัวอัญมณีที่มีกะเปาะโลหะสำหรับฝังหุ้มอัญมณีไว้ทุกด้าน เจาะรูทำบ่าวางกะเปาะอัญมณี เชื่อมกะเปาะกับตัวเรือน จากนั้นกดเนื้อโลหะที่กะเปาะให้หุ้มเกาะอัญมณีไว้รอบทุกด้าน

กะเปาะต้องพอดีกับตัวอัญมณี แต่ไม่จำเป็นต้องรัดแน่น ไม่เช่นนั้นอัญมณีอาจแตกได้ หากกะเปาะแคบไป ให้แก้ไขด้วยการตัดแต่งขอบกะเปาะออกเล็กน้อย ซึ่งก็จะช่วยให้สวมอัญมณีลงไปได้ แต่บางครั้งก็อาจจะต้องทำใหม่ เพราะการตัดแต่งขอบกะเปาะอาจทำให้เสียรูปทรงและขอบไม่เรียบเสมอกัน ส่วนพื้นของกะเปาะจะทึบหรือเจาะเป็นร่องก็ได้ขึ้นอยู่กับความต้องการและผลลักษณะของแบบ


การฝังหนามเตย (Prong Setting) การฝังลักษณะนี้ต้องมีการทำกะเปาะที่มีบ่าสำหรับรองรับอัญมณี ขอบกะเปาะมีรูปทรงตามรูปทรงอัญมณี ซึ่งตัวกะเปาะนี้จะต้องมีบ่าสำหรับให้ขอบอัญมณีวางอยู่ จากนั้นติดขา โดยส่วนใหญ่แล้วขาที่ใช้สำหรับเกาะอัญมณีนั้นจะมีจำนวน 3,4 ,5 หรือ 6 ขา ก็ได้ ซึ่งจำนวนขา ขึ้นอยู่กับขนาดของอัญมณีและแบบของตัวกะเปาะที่ออกแบบไว้ โดยขาที่ยื่นออกมานั้นจะเป็นส่วนที่นำมารัดตัวอัญมณี

การฝังล็อก (Channel Setting) รูปทรงเรชาคณิตมีบทบาทต่อรูปทรงอัญมณี การเพิ่มทรง Baguette Cut ซึ่งเป็นชื่อเรียกแบบการเรียกขนมปังฝรั่งเศส ที่มีรูปทรงสี่เหลี่ยม ยาวรี ซึ่งเหมาะกับการฝังเรียงในเรือนที่มีช่องว่าง (Channel) โดยส่วนใหญ่นั้นใช้สำหรับฝังอัญมณีที่เจียระไน เป็นทรงเหลี่ยมหรือทรงกลม โดยการทำกะเปาะเป็นกรอบแล้วเซาะร่องทำบ่าทั้ง 2 ข้างกะเปาะ นำอัญมณีที่เจียระไนสวมเข้าไปในช่องเรียงกันไป แล้วเชื่อมปิด หรือกดโลหะปิดหัวท้ายของกะเปาะอีกครั้งหนึ่ง หากอัญมณีเม็ดหนึ่งหลุดมักจะทำให้อัญมณีเม็ดอื่นๆ หลุดหรือเลื่อนออกจากที่เดิม การฝังอัญมณีในลักษณะนี้บางครั้งจึงต้องใช้เวลามาก โดยเฉพาะเมื่อเวลาที่ขนาดของอัญมณีและตัวเรือนไม่พอดีกัน จึงต้องมีการกำหนดให้พอดีก่อน เนื่องจากที่ทราบในต้อนต้นแล้ว การฝังชนิดนี้ไม่ได้ฝังเพียงแค่เม็ดเดียว แต่ฝังเป็น Set หลายเม็ด และหากเม็ดใดเม็ดหนึ่งไม่พอดี อาจเกิดการเคลื่อนหรือหลุด ซึ่งจะส่งผลให้อัญมณีเม็ดอื่นๆ มีปัญหาตามมา ดังนั้นต้องทำการเจียระไนอัญมณีแต่ละเม็ดให้พอดีกับตัวเรือนที่สุด

การฝังไร้หนาม (Invisible Setting) การฝังอัญมณีแบบไร้หนาม คิดค้นโดย Van Cleef & Arpels ในปี ค.ศ. 1929 และจดลิขสิทธิ์ในปี ค.ศ.1933 เป็นการฝังอัญมณีลักษณะที่โลหะหายไปจากผิวหน้าของเครื่องประดับ มีแต่กรอบนอก สีของอัญมณี และรูปทรงที่เลือกนำมาใช้นั้นจะต้องถูกคัดสรรมาอย่างดีเยี่ยม และได้รับการเจียระไนอย่างประณีต อัญมณีที่ใช้จะถูกเจียระไนเป็นรูปเหลี่ยม โดยมีขั้นตอนการทำตัวเรือนให้เป็นเส้นรอบรูปที่ต้องการโดยไม่มีเนื้อโลหะคั้นระหว่างอัญมณีแต่ละเม็ด โครงสร้างด้านหลังทำเป็นโครงเหลี่ยมโปร่ง สำหรับยึดตัวเรือนให้แน่นหนา มักใช้กับงานที่ต้องการให้ดูเป็นชิ้นใหญ่ เนื้ออัญมณีจะดูเป็นผืนเดียวกัน นิยมใช้กับอัญมณีหรือเครื่องประดับที่มีราคาค่อนข้างสูง เนื่องจากใช้เนื้ออัญมณีมาก และต้องคัดอัญมณีที่มีสีเรียบเสมอกัน และขนาดพอเหมาะ อีกทั้งใช้เวลา และแรงงานที่มีทักษะสูงอีกด้วย


การฝังไข่ปลา (Pave Setting) ลักษณะการฝังที่การฝังแบบจิกไข่ปลา เจาะรูที่ตัวเรือนทำบ่าวางอัญมณี ขุดเนื้อโลหะด้านข้าง 3-4 ด้าน หรือตามความเหมาะสม ปั้นให้โลหะเป็นรูปกลม หรือเหลี่ยมตามต้องการ เพื่อนำมาเกาะตัวอัญมณีไว้ มักใช้กับอัญมณีเม็ดเล็ก บางครั้งมีการทำไข่ปลาหลอก โดยบางเม็ดเป็นไข่ปลาจริง บางเม็ดไม่ใช้เกาะอัญมณีแต่มีเพื่อตกแต่งให้สวยงาม มักใช้กับงานที่ต้องการให้ดูแพรวพาวหรือใหญ่ แบบของไข่ปลา มักเป็นตุ่มกลม และกดเพื่อเกาะขอบของอัญมณีไว้

การฝังแบบแฟนซี (Fancy Setting) เป็นการฝังอัญมณีตามรูปทรงอิสระไม่มีหลักการ อาจเป็นการผสมผสานของการฝังอัญมณีมากกว่าหนึ่งแบบในชิ้นงานเดียวกัน หรือคิดขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับรูปแบบของอัญมณีและตัวเรือนที่ต้องการ บางครั้งเป็นลักษณะหนามเตยเดียวใหญ่ข้าง เล็กข้าง หรือใช้กาวช่วย

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการออกแบบเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จัดกิจกรรมในโครงการประกวดการออกแบบเครื่องประดับครั้งที่ 7 ภายใต้แนวคิด “Jewelry design inspired by Cubism" ระหว่างวันที่ 8-9 พฤศจิกายน 2556 เวลา 14.00-17.00 น. ณ ลาน Fashion Hall ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ภายในงานจะได้พบกับแฟชั่นโชว์เครื่องประดับสุดอลังการภายใต้แนวคิด Jewelry Design Inspired by Cubism แสดงผลงานผู้ผ่านเข้ารอบ 6 ผลงานที่มีคะแนนสูงสุด โดยดารานักแสดงชื่อดัง ได้แก่ บอย ปกรณ์ หลุยส์ สก๊อต เฟิร์ส เอกพงศ์ รถเมล์ คะนึงนิจ แมท ภีรนีย์ และซาร่า เล็กจ์ พร้อมทั้งพบกับ ซินดี้ สิรินยา บิชอพ เจ้าแม่แคทวอล์กชื่อดังของเมืองไทย ที่จะแนะนำการแต่งกายให้เหมาะกับเครื่องประดับให้ก้าวล้ำเทรนด์ สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02 634 4999 ต่อ 301-306

อ้างอิงภาพจาก Van Cleef and Arples