เครื่องประดับรักชาติ

ก้าวเข้าเดือนสิบสองแล้ว ดีกรีความร้อนแรงทางการเมืองยังไม่จางหายไป แถมยังเหมือนว่าจะหนักขึ้นทุกที อย่างไรก็ตามเราในฐานะประชากรของประเทศ ก็ยังต้องเผชิญ เราจึงต้องพิจารณาอย่างมีสติ และรอบคอบ ว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควร และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้จะจบสิ้นไปในเร็ววัน

สำหรับในเดือนธันวาคมนี้ เรามีวันสำคัญ และเทศกาลมากมาย และหนึ่งในวันสำคัญนั้นคือ “วันพ่อ” หรือที่เรารู้จักกันในนามของ “วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” นั่นเอง

   

วันพ่อ ถือว่าเป็นวันสำคัญ ในการฉลองความเป็นพ่อ และบุคคลที่นับถือในการเป็นพ่อ วันพ่อแห่งชาติทั่วโลกจะมีการจัดแตกต่างกันไป ในประเทศไทยจัดตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี และในวันนี้เองก็ยังเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และถือเป็น วันชาติ อีกด้วย

การเฉลิมฉลองวันพ่อ และกิจกรรมวันพ่อแห่งชาติจัดติดต่อกันทุกปีตั้งแต่ พ.ศ. 2523 กว่า 30 ปีมาแล้ว โดยการริเริ่มของนายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษา คุณหญิงเนื้อพิทย์ เสมรสุต สัญลักษณ์ที่ใช้ในวันพ่อได้แก่ ดอกพุทธรักษา ซึ่งมีชื่ออันเป็นมงคล เนื่องจากพ่อ เป็นบุคคลผู้มีพระคุณและมีบทบาทสำคัญต่อครอบครัวและสังคมที่ผู้เป็นลูกจะ เคารพเทิดทูนและตอบแทนพระคุณด้วยความกตัญญู และสังคมควรที่จะยกย่องให้เกียรติรำลึกถึงผู้เป็นพ่อ และเราก็ได้ถือเอาวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็น "วันพ่อแห่งชาติ" ทั้งนี้มีเหตุผลอยู่ด้วยกัน 4 ประการคือ

  • เพื่อเทิดทูนพระเกียรติคุณของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  • เพื่อเทิดทูนพระคุณของพ่อ และยกย่องบทบาทของพ่อที่มีต่อครอบครัวและสังคม
  • เพื่อให้ลูกได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อ
  • เพื่อให้ผู้เป็นพ่อ สำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของตน

โดยทั่วไป “วันชาติ” มักจะหมายถึง วันเฉลิมฉลองที่ประเทศนั้นๆได้รับอิสรภาพ เป็นเอกราช หรือเป็นวันสถาปนาประเทศ รัฐ ราชวงศ์ หรือวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ วันเกิดประมุขของรัฐ หรืออาจจะเป็นวันที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อื่นๆ สำหรับ ประเทศไทย เราเคยได้มีการกำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายน เป็น “วันชาติ” ของไทย ด้วยถือว่าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย โดยได้มี ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง “วันชาติ” ลงวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 โดย พ.อ.พหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยนั้น และได้มีการเฉลิมฉลองวันชาติ 24 มิถุนายน ครั้งแรกในปีพ.ศ. 2482 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ต่อมาภายหลัง นับแต่ปี พ.ศ. 2503 ประเทศไทยจึงได้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็น “วันชาติ” ของไทย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

    

ตามปกติ การจัดงาน “วันชาติ” ของประเทศต่างๆก็จะมีกิจกรรมและรูปแบบแตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่ก็มักจะมีการกล่าวสุนทรพจน์ การจัดขบวนพาเหรดเฉลิมฉลอง การจุดพลุดอกไม้ไฟอย่างเอิกเกริก รวมไปถึงการแสดงมหรสพต่างๆ เป็นต้น แต่ในประเทศไทย เนื่องจากวันชาติ เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา และวันพ่อแห่งชาติ ซึ่งมีกิจกรรมเฉลิมฉลองอยู่แล้ว กอปรกับประเทศไทยยังไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใครมาก่อน และคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ก็คุ้นชินกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างที่เห็น กันอยู่ปัจจุบัน

โดยส่วนใหญ่การจัดกิจกรรม “วันชาติ” ของเรามักจัดรวมกับกิจกรรมเพื่อถวายความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “พ่อหลวงของแผ่นดิน” มากกว่าประเด็นอื่น อย่างไรก็ดี หากเราจะระลึกว่าวันนี้ ก็เป็น “วันชาติ”ของไทยด้วย แล้วจัดกิจกรรมต่างๆที่จะแสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อ “ประเทศชาติ” ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ และความเสียสละมาอย่างยาวนานเช่นไร ก็อาจจะทำให้ วันนี้ มีความหมายครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

      

ดอกไม้สัญลักษณ์ประจำวันพ่อแห่งชาติ คือ ดอกพุทธรักษา มีสีเหลืองเด่น เป็นสีของวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีความหมายคือ ความสงบสุขร่วมเย็น การปกป้องคุ้มครอง แสดงถึงความรักและเคารพบูชาพ่อ ที่คอยปกป้องครอบครัว โดยมีความเชื่อว่า หากบ้านใดปลูกต้นพุทธรักษาไว้ จะช่วยปกป้องคุ้มครองอันตรายแก่บ้าน และที่อยู่อาศัยได้ ดังนั้นในวันนี้เราจึงมักเห็นคนมอบเข็มกลัดดอกพุทธรักษา และมอบเข็มกลัดดอกพุทธรักษาให้กับคนที่คุณรัก เพื่อแสดงถึงความรักพ่อ และความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม นอกจากเข็มกลัดดอกพุทธรักษา แล้วประชาชนชาวไทย ก็นิยมที่จะประดับธงชาติ และธงราว ประดับไว้ตามบ้าน หรือสถานที่ราชการ หรือบางคนก็มีการนำสัญลักษณ์ธงชาติ สีของธงไตรรงค์มาทำเป็นเครื่องประดับอีกด้วย เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจงรักและภักดีต่อชาติอีกด้วย ซึ่งก็ไม่ได้มีแต่ประเทศไทยเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส รวมทั้งประเทศมหาอำนาจต่างๆ ก็มีการประดิษฐ์ และจัดทำเครื่องประดับ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวันชาติ รวมทั้งที่ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญของชาติ โดยใช้สัญลักษณ์จากสีสันของธงชาติประเทศนั้นๆ ด้วยเช่นกัน

ท้ายสุดนี้สำหรับผู้ที่ชื่นชอบอัญมณีและเครื่องประดับและสนใจในประเด็นเกี่ยวกับการประเมินราคาของอัญมณี สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดหลักสูตร Jewelry Appraisal Corse ขึ้นในวันที่ 17 - 19 ธันวาคม 2556 ซึ่งเป็นหลักสูตรที่จะทำให้คุณมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับอัญมณีและเครื่องประดับประกอบกับการประเมินราคาที่ถูกต้องจากวิทยากรมีประสบการณ์กว่า 30 ปี Mr.Tay Thye Sun สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ศูนย์ฝึกอบรม 02 634 4999 ต่อ 301 - 313 หรือที่ www.git.or.th