โกเมน (Garnet)

โกเมน หรือ garnet มาจากภาษาละตินว่า Grantus ซึ่งหมายถึง ลักษณะที่เป็นเม็ด (grain) โกเมนจัดเป็นพลอยในกลุ่ม Semi Precious Stone ซึ่งจัดเป็นพลอยเนื้ออ่อน โกเมนเป็นพลอยประจำเดือนมกราคมซึ่งเป็นพลอยที่จัดอยู่ในระบบไอโซเมทริก (Isometric) มีความแข็ง ประมาณ 6.5 -7.5 มีค่าความถ่วงจำเพาะ ประมาณ 3.5 - 4.2 ซึ่งค่าความถ่วงจำเพาะของโกเมนนี้จะขึ้นอยู่กับธาตุที่เป็นองค์ประกอบที่อยู่ในโครงสร้าง โกเมนที่พบนี้มีได้หลายสีซึ่งขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางเคมี โกเมนที่นิยมและพบได้ในตลาดพลอย ได้แก่

ไพโรป (Pyrope) มีสูตรเคมี Mg3Al2(SIO4)3 มีสีแดงเข้ม ไพโรปมาจากภาษากรีก หมายถึง มีสีแดงจ้าคล้ายไฟเมื่อส่องดูกับแสง

แอลมันไดต์ (Almandite) มีสูตรเคมี Fe3Al2(SIO4)3 มีสีแดงเข้ม น้ำตาลอมแดง แดงม่วง


Almandite

สเปสซาร์ไทต์ (Spessartite) มีสูตรเคมี Mn3Al2(SIO4)3 มีสีน้ำตาลถึงแดง



Spessartite

กรอสซูลาร์ (Grossular) มีสูตรเคมี Ca3Al2(SIO4)3 พบได้หลายสี แต่ที่เป็นที่นิยมใช้กัน ได้แก่ Tsavorite ซึ่งมีสีเขียว และ Hessonite มีสีเหลือง สีน้ำตาล สีส้ม


Tsavorit

Hessonite

ไฮโดรกรอสซูลาร์ (Hydrogrossular) มีสีเขียว ชมพู น้ำตาล ซึ่งบางครั้งอาจนำมาใช้เลียนแบบหยก เรียกว่า "Tansvaal jade"

แอนดราไดต์ (Andradite) มีสูตรเคมี Ca3Fe2(SIO4)3 มีสีเขียวเหลือง เรียกว่า Demantoid ซึ่งมาจาก Demant ในภาษาดัทช์ แปลว่า เพชร เนื่องจากสะท้อนแสงได้ดีอย่างเพชร ซึ่งจัดเป็นโกเมนที่มีค่าและหายากที่สุด


Demantoid

นอกจากนี้ยังมีโกเมนที่เป็นที่รู้จักกันอีกเช่น โรโดไลต์ (Rhodolite) เป็นโกเมนสีชมพูอมม่วง ซึ่งมีส่วนประกอบทางเคมีอยู่ระหว่างไพโรป กับ แอลมันไดต์


Rhodolite

มาลายา (Malaya) เป็นโกเมนสีส้ม ส้มแดง ซึ่งมีส่วนประกอบทางเคมีผสมกันของไพโรป กับ สเปสซาร์ไทต์ มีสูตรเคมี (Mg,Mn)3Al2(SIO4)3

สำหรับประเทศไทยนั้น สามารถพบโกเมนได้ในหลายจังหวัด เช่น จันทบุรี ตราด เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง เชียงราย เป็นต้น ในต่างประเทศโกเมนที่เป็นรัตนชาติมีมากที่ ประเทศศรีลังกา ออสเตรเลีย อูราล บราซิล เป็นต้น